วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

การสื่อสาร


โลกของเรามีการพัฒนาขึ้น เทคโนโลยีก็มีความทันสมัยมากขึ้น การสื่อสารจึงมีความทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน   การสื่อสารในโลกของเรามีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เริ่มจากการพูดคุยกันระหว่างบุคคล จนมาถึงการมีเครื่องมือสื่อสาร  ที่ทันสมัยในปัจจุบัน แม้ว่าจะอยู่ต่างที่ แต่ก็สามารถพูดคุยกันได้
การสื่อสาร (Communication) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า  Communis  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Communicate ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า Make Common หมายถึง ทำให้มีสภาพร่วมกัน ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงกับธรรมชาติของการสื่อสาร คือ การทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ตรงกัน กล่าวคือ มนุษย์มีการสื่อสารซึ่งกันและกันก็เพื่อเข้าใจให้ตรงกันนั้นเอง ดังนั้นการนิยามความหมายคำว่า การสื่อสารจึงเป็นการนิยามที่ตั้งอยู่บนรากฐานของรากศัพท์เดิม คือ ความเข้าใจร่วมกัน
            ดังนั้น การสื่อสาร หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดสารจากบุคคลหนึ่ง (ผู้ส่งสาร) ไปยังบุคคลหนึ่ง (ผู้รับสาร) โดยผ่านสื่อต่าง ๆ และมีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงให้ผู้รับข่าวสารมีปฏิกริยาตอบสนองกลับมา โดยคาดหวังให้เป็นไปตามที่ผู้ส่งต้องการ


การสื่อสารมีความสำคัญ ดังนี้
    -ด้านสังคม พื่อเกิดความเข้าใจ กฏระเบียบ การอยู่รวมกันอย่างสงบสุขในสังคม
     -ความสัมพันธ์ต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจ เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้า ชักจูงผู้บริโภคโดยการโฆษณา
     -ด้านการปกครอง ใช้เป็นกลไกการกระจายข่าวสารต่าง ๆ สู่ผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันและรับทัศนคติของผู้ถูกปกครอง
การสื่อสารมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
 ผู้ส่งสารมีจุดประสงค์ให้ผู้รับได้ทราบความต้องการของตน ว่าตนต้องการสื่อไปในรูปแบบไหน อาจจะมุ่งให้ผู้รับมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามที่ผู้ส่งสารกำหนดไว้ มุ่งให้เกิดผลทางจิตใจหรืออารมณ์ มุ่งเน้นให้ผู้รับสารคล้อยตาม และเพื่อเสนอหรือชักจูงใจให้กระทำและตัดสินใจ แบ่งเป็นข้อได้ ดังนี้
1.  เพื่อแจ้งให้ทราบ (inform)  ในการทำการสื่อสาร  ผู้ทำการสื่อสารควรมีความ ต้องการที่จะบอกกล่าวหรือชี้แจงข่าวสาร  เรื่องราว  เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่นใดให้ผู้รับสารได้รับทราบ
2.  เพื่อสอนหรือให้การศึกษา (teach or education)  ผู้ทำการสื่อสารอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อจะ ถ่ายทอดวิชาความรู้  หรือเรื่องราวเชิงวิชาการ  เพื่อให้ผู้รับสารได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
3.  เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง (please of entertain)  ผู้ทำการสื่อสารอาจ ใช้วัตถุประสงค์ในการสื่อสารเพื่อสร้างความพอใจ  หรือให้ความบันเทิงแก่ผู้รับสาร  โดยอาศัยสารที่ตนเองส่งออกไป  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการพูด การเขียน  หรือการแสดงกิริยาต่าง ๆ
4.  เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ (Propose or persuade) ผู้ทำการสื่อสารอาจใช้วัตถุประสงค์ใน การสื่อสารเพื่อให้ข้อเสนอแนะ  หรือชักจูงใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อผู้รับสาร  และอาจชักจูงใจให้ผู้รับสารมีความคิดคล้อยตาม  หรือยอมปฏิบัติตามการเสนอแนะของตน
5.  เพื่อเรียนรู้ (learn) วัตถุประสงค์นี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้รับสาร  การแสวงหาความรู้ ของผู้รับสาร โดยอาศัยลักษณะของสาร  ในกรณีนี้มักจะเป็นสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิชาความรู้  เป็นการหาความรู้เพิ่มเติมและเป็นการทำความเข้าใจกับเนื้อหาของสารที่ผู้ทำการสื่อสารถ่ายทอดมาถึงตน
6.  เพื่อกระทำหรือตัดสินใจ (dispose or decide)  ในการดำเนินชีวิตของคนเรามี สิ่งหนึ่งที่ต้องกระทำ อยู่เสมอก็คือ  การตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งการตัดสินใจ นั้นอาจได้รับการเสนอแนะ  หรือชักจูงใจให้กระทำอย่างนั้นอย่างนี้จากบุคคลอื่นอยู่เสมอ  ทางเลือกในการ ตัดสินใจของเราจึงขึ้นอยู่กับข้อเสนอแนะนั้น
ประเภทของการสื่อสาร
-การสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) บุคคลคนเดียว ทำหน้าที่ทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร
-การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
-การสื่อสารกลุ่มใหญ่ (Large Group Communication) สื่อสารไปยังบุคคลที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
-การสื่อสารในองค์การ (Organization Communication) สื่อสารระหว่างสมาชิกใน องค์การ
-การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) สื่อสารไปยังคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยสื่อมวลชน
องค์ประกอบของการสื่อสาร                                                                                                                                                                                                              
การสื่อสารต้องประกอบไปด้วยผู้ส่งสาร (sender) และผู้รับสาร (receiver) เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่ผู้ส่งสารตั้งใจส่งสารไปถึง (intended receiver) แต่การสื่อสารยังต้องมีองค์ประกอบนอกเหนือจากผู้ส่งสารและผู้รับสาร นั่นคือตัวกลางที่เข้ามาช่วยอธิบายให้กระบวนการสื่อสารมีความสมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้น การสื่อสารโดยทั่วไปจึงประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้

1. ผู้ส่งสาร (Sender) หรือผู้สื่อสาร(Communicator) หรือแหล่งสาร (Source) หรือผู้เข้ารหัส (encoder) คือ  บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ริเริ่มหรือเริ่มต้นส่งสารไปให้อีกบุคคลหนึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หรือเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งสารผ่านช่องทางหนึ่งไปยังผู้รับสาร ฉะนั้น ผู้ส่งสารจึงมีบทบาทในการชี้นำว่าพฤติกรรมการสื่อสารภายในสถานการณ์หนึ่งๆ นั้น จะเป็นไปในรูปใดและมีผลอย่างไรหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ส่งสารคือ ผู้กระตุ้น (stimulus) ที่ทำให้เกิดการตอบสนอง (response) จากผู้รับสาร หรือผู้ส่งสารอาจเรียก ผู้เข้ารหัส (encoder) คือ ผู้ที่รับผิดชอบในการนำความคิดของผู้ริเริ่ม ความคิดหรือแหล่งสาร (source) ส่งไปยังผู้ที่ต้องการจะสื่อสารด้วย โดยการใช้สัญญาณ (signal) และสัญลักษณ์ (symbol) หรือเรียกว่า การเข้ารหัส (encoding) ซึ่งแสดงถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่แหล่งสารต้องการสื่อ
2. สารหรือเนื้อหา (Message) คือ  สิ่งที่ผู้ส่งสารส่งสารไปให้ผู้รับสารในรูปของรหัส  คำว่า รหัสหมายถึง สัญญาณ (signal) หรือสัญลักษณ์ (symbol) หรือกลุ่มของสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่มีความหมายต่อคน และผู้รับสารสามารถเข้าใจความหมายของมันได้ต่อเมื่อมีการถอดความหมายของสัญญาณหรือสัญลักษณ์ออกมา สัญญาณหรือสัญลักษณ์ในที่นี้อาจเป็น คำพูด ตัวหนังสือ รูปภาพ เครื่องหมาย หรือกิริยาท่าทางต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงหรือถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ความต้องการและวัตถุประสงค์ของผู้รับสาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว สารก็คือ ภาษา (language) โดยสามารถแบ่งเนื้อหาของสารได้ 2 ประเภทคือ
       1. รหัสของสารที่ใช้คำ (Verbal Message Codes) ได้แก่ ภาษาอันเป็นระบบของสัญลักษณ์และหรือระบบของสัญญาณที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อซึ่งกันและกัน มนุษย์ได้สร้างขึ้นและพัฒนาสืบทอดมาโดยลำดับ ภาษาจะมีโครงสร้าง (Structure) ที่ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ (Elements) รวมเข้าไปด้วยกันอย่างมีความหมาย (ส่วนประกอบของภาษา เช่น เสียง (Sound) ตัวอักษร (Letters) คำ (Words) คำสะกดการันต์ เครื่องหมายต่างๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเรียบเรียงเข้าเป็นถ้อยคำ เป็นวลี และประโยคที่มีความหมาย โดยอาศัยระเบียบและกฎเกณฑ์ของภาษานั้นๆ เป็นหลัก เช่น โครงสร้างประโยคตามหลักการเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
       2. รหัสของสารที่ไม่ใช้คำ (Nonverbal Message Codes)  ได้แก่  ระบบสัญลักษณ์สัญญาณหรือเครื่องหมายใดๆ ก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ้อยคำ เช่น ดนตรี การเต้นระบำ อากัปกริยาท่าทาง (Gesture) การแสดงทางหน้าตา (Facial Expression) สี ธง สัญญาณไฟ ควัน สัญญาณ การวาดภาพ ฯลฯ ซึ่งแต่ละอย่างมีส่วนประกอบย่อย และเมื่อรวมเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนดก็ทำให้มีความหมายขึ้น
   3. สื่อ (Medium)หรือ ช่องทางในการนำสาร (Channel) หมายถึง ตัวกลางที่ช่วยในการนำส่งสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ช่องทางเปรียบเหมือนทางหรือพาหะระหว่างผู้ร่วมสื่อสาร เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น  
       ซึ่งเบอร์โล  (Berlo) ได้แบ่งช่องทางการสื่อสารออกเป็น 3 ประเภท   คือ   
        1. ช่องทางที่เป็นตัวกลางนำสารจากผู้ส่งสารไปให้ผู้รับสาร ซึ่งได้แก่ คลื่นแสง คลื่นเสียง วิทยุ โทรเลข โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น ช่องทางเหล่านี้เน้นหนักในเรื่องสื่อทางเทคโนโลยี
        2. ช่องทางที่เป็นพาหนะของสิ่งที่นำสาร เช่น อากาศ ซึ่งเป็นตัวนำคลื่นเสียงไปสู่ประสาทรับความรู้สึกต่างๆ หรือประสาททั้งห้า (ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส และการลิ้นรส) ช่องทางประเภทนี้พบในกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคล
        3. วิธีในการเข้ารหัสและถอดรหัสสาร (mode of encoding and decoding) เช่น การใช้วิธีพูด การใช้วิธีเขียน เป็นต้น ซึ่งนักทฤษฎีนิเทศศาสตร์โดยทั่วไปไม่ยอมนิยาม ช่องทางการสื่อสารในความหมายนี้
       และเรโอ (Rao) เน้นว่า ช่องทางการสื่อสารมีลักษณะดังต่อไปนี้
       1. ช่องทางเป็นหน่วยพลังงานมวลสาร (matter – energy unit) ประเภทหนึ่งที่เรียกว่าสื่อ (medium)
       2. ช่องทางเป็นตัวนำส่งหน่วยพลังงานมวลสาร ซึ่งมีการจัดเป็นระเบียบแบบแผนที่เรียกว่า สารสนเทศ (information)
       3. ช่องทางเป็นตัวเชื่อมระหว่างบุคคลที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง
4. ผู้รับสาร(Receiver)หรือกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) หรือ ผู้ถอดรหัส (decoder) คือ ผู้ที่รับสารจากบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลหนึ่ง เมื่อได้รับสารผู้รับสารจะเกิดการตีความและการตอบสนองจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และส่งปฏิกิริยาตอบสนอง (feedback) กลับไปให้ผู้ส่งสาร หรือผู้รับสารเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ถอดรหัส (decoder) คือ ผู้ที่ถอดความหมายของสัญญาณหรือสัญลักษณ์ที่ผู้เข้ารหัสส่งมา หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้รับผิดชอบการถอดรหัสของสาร (decoding) เพื่อให้ผู้รับสารปลายทาง (receiver / destination) หรือผู้รับสารที่ผู้ส่งสารต้องการให้ได้รับสารของตน
 5. ปฏิกิริยาสนองกลับ (Feedback)  คือ สาร แต่เป็นสารที่ผู้รับสารไปให้กับผู้ส่งสารเมื่อได้ตีความหมายของสารที่ตนได้รับ ในเมื่อความหมายของสารมิได้อยู่ที่ตัวสาร แต่อยู่ที่การตีความของผู้รับสาร ผู้สื่อสารจึงจำเป็นที่จะต้องสนใจและให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น ความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ยอมรับหรือปฏิเสธ พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯ เนื่องจากบางครั้งผู้ส่งสารอาจต้องการส่งสารที่มีความหมาย X ไปให้ผู้รับสาร แต่ผู้รับสารกลับตีความหมายของสารนั้นเป็น Y ซึ่งไม่ตรงกับที่ผู้ส่งสาร ถ้าผู้ส่งสารสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองว่าไม่เป็นไปในทางที่ตนต้องการ ผู้ส่งสารก็สามารถปรับสารของตนให้ผู้รับสารเข้าใจสารตรงตามที่ตนต้องการได้ในที่สุด ซึ่งอาจเป็นคำพูดโต้ตอบ หรือการแสดงความคิดเห็น หรือการใช้ท่าทาง เช่น แสดงอาการง่วงนอน ปรบมือ ยิ้ม พยักหน้า เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ส่งสารทราบว่า ผู้รับสารมีความพอใจหรือมีความเข้าใจในความหมายของข้อมูลที่ส่งไปหรือไม่
ในการสื่อสารแต่ละครั้ง อาจมีองค์ประกอบน้อยกว่าหรือมากกว่า 5 ประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วแต่บริบทของการสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว  หรือการสื่อสารสองทาง แต่ก็ยังทำให้การสื่อสารนั้นสำเร็จและสมบูรณ์ได้  ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้
   Sender
   Message
  Channel
  Receive
      Feed back
        ผู้ส่งสาร
      สาร
       สื่อหรือช่องทาง
       สื่อหรือช่องทาง
   ปฏิกิริยาการตอบสนอง
     ใคร
    กล่าวอะไร
     ช่องทางใด
       ถึงใคร
      ผลเป็นอย่างไร


องค์ประกอบเพิ่มเติมของการสื่อสาร                                                                                                    \
           สิ่งรบกวน                                                                                                                                         

สิ่งรบกวน (noise) คือ สิ่งจำกัดประสิทธิภาพการถ่ายทอดสารหรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร ทำให้การสื่อสารไม่บรรลุผลเท่าที่ควร หรือบางครั้งอาจทำให้การสื่อสารไม่สามารถดำเนินต่อไปได้  มีการแบ่งประเภทของสิ่งรบกวนหลายวิธีด้วยกัน เช่น แชนนอนและวีเวอร์ (Shannon and Weaver) แบ่งสิ่งรบกวนเป็น
       1. สิ่งรบกวนทางกายภาพ (physical noise) หมายถึง สิ่งรบกวนซึ่งเกิดขึ้นภายนอกตัวบุคคล เช่น เสียงรถยนต์ เสียงคนคุยกัน เสียงประตู ฯลฯ
       2. สิ่งรบกวนทางจิตใจ (psychological noise) หมายถึง สิ่งรบกวนซึ่งเกิดขึ้นภายในตัวบุคคล ภายในความคิด จิตใจ และอารมณ์ของผู้สื่อสาร เช่น ผู้พูดมีอคติต่อเรื่อง มีปัญหาในใจก่อนการพูด หรืออารมณ์ไม่ดี หรือผู้ฟังขาดสมาธิในการฟัง เป็นต้น
กระบวนการสื่อสาร
             กระบวนการสื่อสาร (Communication Process) โดยทั่วไปเริ่มต้นจากผู้ส่งข่าวสาร (Sender) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมแนวความคิดหรือข้อมูล จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องการส่งข่าวไปยังผู้รับข่าวสาร ก็จะแปลงแนวความคิดหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาเป็น ตัวอักษร น้ำเสียง สี การเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าข่าวสาร (Massage) จะได้รับการใส่รหัส(Encoding) แล้วส่งไปยังผู้รับข่าวสาร (Receivers) ผ่านสื่อกลาง (Media) ในช่องทางการสื่อสาร (Communication Channels)ประเภทต่าง ๆ หรืออาจจะถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารไปยังผู้รับข่าวสารโดยตรงก็ได้ ผู้รับข่าวสาร เมื่อได้รับข่าวสาแล้วจะถอดรหัส (Decoding) ตามความเข้าใจและประสบการณ์ในอดีต หรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และมีปฏิกริยาตอบสนองกลับไปยังผู้ส่งข่าวสารซึ่งอยู่ในรูปขอความรู้ ความเข้าใจ การตอบรับ การปฏิเสธหรือการนิ่งเงียงก็เป็นได้ ทั้งนี้ข่าวสารที่ถูกส่งจากผู้ส่งข่าวสารอาจจะไม่ถึงผู้รับข่าวสารทั้งหมดก็เป็นได้ หรือข่าวสารอาจถูกบิดเบือนไปเพราะในกระบวนการสื่อสาร ย่อมมีโอกาสเกิดสิ่งรบกวน หรือตัวแทรกแซง(Noise or Interferes) ได้ ทุกขั้นตอนของการสื่อสาร
อุปสรรคในการสื่อสาร

อุปสรรคในการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่ทำให้การสื่อสารไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของผู้สื่อสารและผู้รับสาร  อุปสรรคในการสื่อสารอาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการสื่อสาร ดังนั้นอุปสรรคในการสื่อสารจากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
   1.อุปสรรคที่เกิดจากผู้ส่งสาร
1.  ผู้ส่งสารขาดความรู้ความเข้าใจและข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ต้องการจะสื่อ
2.  ผู้ส่งสารใช้วิธีการถ่ายทอดและการนำเสนอที่ไม่เหมาะสม
3.  ผู้ส่งสารไม่มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี และไม่เหมาะสม
4.  ผู้ส่งสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการส่งสาร
5.  ผู้ส่งสารขาดความพร้อมในการส่งสาร  
6.  ผู้ส่งสารมีความบกพร่องในการวิเคราะห์ผู้รับสาร
   2.  อุปสรรคที่เกิดจากสาร
      1.  สารไม่เหมาะสมกับผู้รับสาร อาจยากหรือง่ายเกินไป
                   2. สารขาดการจัดลำดับที่ดี สลับซับซ้อน ขาดความชัดเจน
      3.  สารมีรูปแบบแปลกใหม่ยากต่อความเข้าใจ
      4.  สารที่ใช้ภาษาคลุมเครือ ขาดความชัดเจน
   3.  อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากสื่อ หรือช่องทาง
      1.  การใช้สื่อไม่เหมาะสมกับสารที่ต้องการนำเสนอ
      2.  การใช้สื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพที่ดี
      3.  การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับระดับของการสื่อสาร
   4.  อุปสรรคที่เกิดจากผู้รับสาร
                  1.  ขาดความรู้ในสารที่จะรับ                          2.  ขาดความพร้อมที่จะรับสาร
      3.  ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ส่งสาร            4.  ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสาร
      5.  ผู้รับสารมีความคาดหวังในการสื่อสารสูงเกินไป

 หลักในการสื่อสาร
การสื่อสารจะประสบความสำเร็จตรงตามจุดประสงค์หรือไม่ผู้ส่งสารควรคำนึงถึงหลักการสื่อสาร ดังนี้
1. ผู้ที่จะสื่อสารให้ได้ผลและเกิดประโยชน์ จะต้องทำความเข้าใจเรื่ององค์ประกอบในการสื่อสาร และปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับรู้ การคิด การเรียนรู้ การจำ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพ ในการสื่อสาร
2. ผู้ที่จะสื่อสารต้องคำนึงถึงบริบทในการสื่อสาร บริบทในการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่อยู่แวดล้อมที่มีส่วนในการกำหนดรู้ความหมายหรือความเข้าใจในการสื่อสาร
3. คำนึงถึงกรอบแห่งการอ้างอิง (frame of reference) มนุษย์ทุกคนจะมีพื้นความรู้ทักษะ เจตคติ ค่านิยม สังคม ประสบการณ์ ฯลฯ เรียกว่าภูมิหลังแตกต่างกัน ถ้าคู่สื่อสารใดมีกรอบแห่ง  การอ้างอิงคล้ายกัน   ใกล้เคียงกัน จะทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น
4. การสื่อสารจะมีประสิทธิผล เมื่อผู้ส่งสารส่งสารอย่างมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ผ่านสื่อหรือช่องทาง  ที่เหมาะสม ถึงผู้รับสารที่มีทักษะในการสื่อสารและมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน
5. ผู้ส่งสารและผู้รับสาร ควรเตรียมตัวและเตรียมการล่วงหน้า เพราะจะทำให้การสื่อสารราบรื่น สะดวก รวดเร็ว เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที หากจะเกิดอุปสรรค์ ที่จุดใดจุดหนึ่ง                     
6. คำนึงถึงการใช้ทักษะ เพราะภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์ตกลงใช้ร่วมกันในการ สื่อความหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจในการสื่อสาร คู่สื่อสารต้องศึกษาเรื่องการใช้ภาษา และสามารถใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล เนื้อหาของสาร และช่องทางหรือสื่อ ที่ใช้ในการสื่อสาร
7.  คำนึงถึงปฏิกิริยาตอบกลับตลอดเวลา ถือเป็นการประเมินผลการสื่อสาร ที่จะทำให้คู่สื่อสารรับรู้ผลของการสื่อสารว่าประสบผลดีตรงตามวัตถุหรือไม่ ควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อบกพร่องใด เพื่อที่จะทำให้การสื่อสารเกิดผลตามที่ต้องการ
สรุป
การสื่อสารเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่มนุษย์เกิดมา มนุษย์ก็ใช้การสื่อสารแล้ว และมนุษย์ก็ได้รับการพัฒนาทักษะในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้มนุษย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆเป็นคนช่างสังเกต เรียนรู้ได้เร็ว และมีความจำดี มีความซื่อตรง มีความกล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีความคิดสุขุม รอบคอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  คิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี  มี  มนุษยสัมพันธ์ดีกับผู้อื่น  มีความสามารถในการเขียนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  มีศิลปะและเทคนิคการจูงใจคน  รู้ขั้นตอนการทำงาน  มีความสามารถแยกแยะและจัดระเบียบข่าวสารต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข